กรมทรัพย์สินทางปัญญา, NINO, DeejayB, Rap is Now ร่วมแลกเปลี่ยนความรู้ ลิขสิทธิ์บีท และการเผยแพร่ผลงานเพลง

กรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ จัดเสวนา “CopyRight on The Beat” ขึ้นเมื่อวันเสาร์ที่ 7 กันยายน 2562 เพื่อเป็นเวทีในการสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการบริหารจัดการลิขสิทธิ์บีท เพลงและการต่อยอดในเชิงพาณิชย์

โดยงานนี้ได้วิทยากรร่วมถ่ายทอดความรู้และแลกเปลี่ยนแนวคิดเกี่ยวกับการสร้างผลงานบีทเพลง มาต่อยอดสู่การหารายได้จากงานลิขสิทธิ์ นำโดย เกริก ชาญกว้าง-NINO โปรดิวเซอร์แห่งค่าย YUPP, วิภัทร คันธารัตนกุล-DeejayB โปรดิวเซอร์ยอดฝีมือและดีเจแห่ง Bangkok Invaders, เดชาธร บำรุงเมือง-hockhacker ผู้เขียนเองในฐานะหนึ่งในทีมงานเบื้องหลังของ RAP IS NOW ก็ได้ไปร่วมในงานนี้ด้วย ร่วมด้วยคุณกิตติเพชร ภิงคารวัฒน์ หัวหน้าฝ่ายพันธมิตรธุรกิจของ YouTube ประเทศไทย และผู้ดำเนินรายการที่มาแรงในวงการชั่วโมงนี้ DJ Pani จาก Cutz Radio by NVSC

copyright on the beat
กรมทรัพย์สินทางปัญญาและเหล่าวิทยากรมาให้ความรู้ด้านลิขสิทธิ์บีทเพลงอย่างครบถ้วน

นายทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา เปิดเผยว่ากรมทรัพย์สินทางปัญญา ร่วมกับ คณะอนุกรรมการพัฒนาองค์ความรู้ด้านลิขสิทธิ์ จัดงานเสวนา CopyRight on The Beat เพื่อเป็นเวทีในการสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการบริหารจัดการลิขสิทธิ์และการต่อยอดในเชิงพาณิชย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคดิจิทัลที่มีช่องทางให้สามารถเผยแพร่งานลิขสิทธิ์ได้หลากหลายและง่ายยิ่งขึ้น จึงเป็นโอกาสดีที่ผู้สร้างสรรค์ผลงานเพลงรุ่นใหม่ๆ จะได้ศึกษาแนวทางความสำเร็จ และเห็นถึงความสำคัญของประโยชน์จากทรัพย์สินทางปัญญา”

Copyright on the beat
เหล่าผู้สนใจด้านลิขสิทธิ์บีทและการสร้างผลงาน ลงทะเบียนเข้าฟังจำนวนมาก

งานนี้เปิดให้เข้าชมฟรี และมีผู้สนใจลงทะเบียนเต็มจำนวนตั้งแต่วันแรกๆ ที่เปิดรับ โดยในงานแบ่งช่วงของหัวข้อเป็น 2 ประเด็นใหญ่ๆ คือ แนวทางและแรงบันดาลใจในการสร้างผลงานบีทเพลงฮิปฮอป กับ เรื่องของลิขสิทธิ์และข้อจำกัดการใช้งานบีทผ่านช่องทางออนไลน์อย่าง YouTube ซึ่งเราจะมาสรุปเนื้อหามาให้อ่านกันในที่นี้เลย

แนวทางการสร้างผลงานบีทเพลงฮิปฮอป จากโปรดิวเซอร์เพลงฮิปฮอประดับท็อปของวงการอย่าง NINO และ DeejayB ทั้งสองได้กล่าวถึงขั้นตอนในการสร้างผลงานบีท และการร่วมงานกับศิลปินหลายๆ คนที่มีความยากง่ายต่างกันไป ซึ่งก็ได้ข้อแนะนำและเกร็ดความรู้จากทั้งคู่มาดังนี้

  • สามารถทำบีทขึ้นด้วยโปรแกรมสำเร็จรูปโดยไม่ต้องยึดกับหลักทางดนตรีมากนัก
  • ในเพลงที่ประสบความสำเร็จมักใช้ความรู้สึกชอบเป็นหลัก
  • โปรดิวเซอร์ต้องสามารถให้คำแนะนำ หรือไกด์ท่อนร้องให้กับแร็พเปอร์ได้ด้วย
  • หากต้องการเสียงจริง ก็จะมีการใช้นักดนตรีมาเล่นเครื่องดนตรีจริงผสมด้วย

212379

สำหรับเรื่องของลิขสิทธิ์เพลงและการเผยแพร่เพลงผ่านช่องทางออนไลน์อย่าง YouTube ส่วนนี้จะเป็นส่วนที่ผู้เขียน hockhacker ได้มีส่วนให้ข้อมูลเกี่ยวกับการดูแลเผยแพร่เพลงของแร็พเปอร์ ร่วมกับคุณกิตติเพชร จาก YouTube มีเนื้อหาที่น่าสนใจดังนี้

  • การทำเพลง cover และการทำ mixtape เพลงฮิปฮอป นับเป็นการโปรโมทตัวเองแบบหนึ่ง ซึ่งหากมีการนำเนื้อร้องหรือดนตรีที่มีลิขสิทธิ์คุ้มครองอยู่ก็จะไม่สามารถเปิดหารายได้จากวิดีโอนั้นได้
  • การลงบีทขายมักมีการเขียนกำกับว่า FREE ในชื่อวิดีโอ แต่ควรอ่านรายละเอียดและติดต่อผู้ทำบีทให้เรียบร้อยว่า คำว่า FREE นั้นมีขอบเขตการใช้งานแค่ไหน
  • การนำบีท FREE มาทำเพลง มักติดปัญหาเรื่องลิขสิทธิ์บีทที่ไปซ้ำกับผู้อื่น เนื่องจากอาจมีผู้ซื้อบีทเหมือนกับเราจากทั่วโลก
  • YouTube เป็นแพลตฟอร์มให้บริการพื้นที่ แต่ไม่นับเป็นจัดจำหน่ายหรือดูแลเรื่องลิขสิทธิ์เผยแพร่เพลง จะมีเพียงการสร้าง Content ID ที่อยู่ในแพลตฟอร์มเท่านั้น

212375

ในด้านของลิขสิทธิ์ก็จะเป็นส่วนของกรมทรัพย์สินทางปัญญาที่มาให้ข้อมูลเพิ่มเติม โดยตามปกติเมื่อผู้สร้างสรรค์ผลงานทำผลงานเสร็จแล้ว ก็มีความคุ้มครองเรื่องลิขสิทธิ์โดยชอบธรรมอยู่แล้ว เพียงแต่หากต้องการการจดแจ้งก็สามารถติดต่อไปที่กรมทรัพย์สินทางปัญญาเพื่อให้ออกเอกสารรับรองได้เช่นกัน ส่วนในลิขสิทธิ์ของเพลงก็จะแบ่งเป็นอีกหลายส่วน คือ งานดนตรีกรรมที่สร้างสรรค์โดยนักแต่งเพลง เมื่อมีการบันทึกและจำหน่ายก็จะต้องจ่ายผลตอบแทนที่เรียกว่าสิทธิทำซ้ำ กับอีกประเภทคือสิทธิเผยแพร่ต่อสาธารณชน หมายถึงหากมีการจัดแสดงเพลงก็ต้องขอลิขสิทธิ์ส่วนงานแผยแพร่ดนตรีกรรม หากเป็นการเปิดเพลงเฉยๆ ก็นับเป็นลิขสิทธิ์เผยแพร่งานทั้งงานดนตรีกรรม และงานสิ่งบันทึกเสียง

212377

สำหรับช่วงถาม-ตอบ  ก็มีหลายคำตอบที่เกี่ยวข้องกับการซื้อบีทจากเว็บไซต์ต่างประเทศในลักษณะการเช่า (Lease) ซึ่งข้อนี้ก็ต้องบอกว่าเหมาะสำหรับศิลปินอิสระที่เริ่มสร้างผลงาน เพราะหากเป็นศิลปินที่เริ่มทำเป็นอาชีพและต้องการลิขสิทธิ์บีท เฉพาะเราผู้เดียวก็ต้องไปซื้อสิทธิแบบ Exclusive เพิ่มอีกครั้งอยู่ดี นอกจากนั้นก็จะเป็นคำถามเกี่ยวกับช่องทางเริ่มต้นของศิลปินอิสระกับช่องทาง YouTube ซึ่งก็มีคำแนะนำจากวิทยากรคือการใช้งานแพลตฟอร์มให้มีประสิทธิภาพที่สุดในทุกบริการที่ YouTube มีให้ เช่น Community Tab, Stories, Premier และฟังก์ชั่นต่างๆ ที่มีเสริมในผู้ใช้งาน

งานนี้ผู้เขียนในนาม hockhacker ก็ต้องขอขอบคุณทางกรมทรัพย์สินทางปัญญาที่จัดงานดีๆ ให้พื้นที่กับศิลปินและผู้สร้างสรรค์ผลงานบีทฮิปฮอปรุ่นใหม่มาฟังความรู้ และแรงบันดาลใจในการทำผลงานจนสามารถสร้างรายได้เป็นอาชีพดังเช่นวิทยากรสายโปรดิวเซอร์เพลงที่ประสบความสำเร็จ สำหรับตัวผู้เขียนเองก็ยินดีเช่นกันที่ได้รับความไว้วางใจให้เป็นหนึ่งในวิทยากรมาแลกเปลี่ยนข้อมูลดีๆ ในงานนี้ ขอบคุณอีกครั้งครับ

212373

212369

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

*
*
Website