
ตลอดครึ่งปีแรกของปี 2021 Rap is Now มีโปรเจ็คต์ที่อยู่ในขาของการผลักดันด้านการศึกษาโดยมี กสศ. (กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา) เข้ามาร่วมมือผ่านการพูดคุยกับทีม Glow Story สู่การจัดแข่งขันทำเพลง ‘เรียนนอกห้อง’ Song Competition ต่อยอดจากแคมเปญ “วิชาชีวิต”
ผลงานกว่า 270 วิดีโอถูกส่งเข้ามาเพื่อเล่าถึงสิ่งที่พวกเขาได้เรียนรู้ ผ่านผลงานเพลงแร็พที่มีความแตกต่างทั้งเนื้อหา ทัศนคติ เรื่องเล่า และวิชาชีวิตที่แต่ละคนได้เรียนรู้มา ก่อนที่เราจะตัดตัวเหลือ 10 ผลงานสุดท้ายจาก 10 แร็พเปอร์มาตัดสินหาผู้ชนะอีกขั้นตอน

เจิน JMG คือผู้ชนะในการแข่งขันทำเพลงครั้งนี้ สิ่งที่ทีมกรรมการเห็นจากตัวของเขาก็คือ เรื่องราวชีวิตที่โชกโชนผ่านความผิดพลาด ผ่านจุดหักเหในชีวิตอย่างหนักหน่วงตั้งแต่ยังเด็ก แต่เขาก็มีจุดเปลี่ยนที่เลือกเดิน และสิ่งที่สำคัญที่สุดคือเขาได้เล่าทั้งหมดผ่านเพลงแร็พแล้วถ่ายทอดมาให้เราได้ฟัง
มีคอมเมนต์หนึ่งในยูทูปได้นิยามให้กับเพลงของ JMG ไว้ว่า เขาอาจไม่ใช่คนที่แต่งไรห์มได้สวยที่สุด เขาอาจไม่ใช่คนที่แร็พเก่งที่สุด แต่เขาคือคนที่จริงที่สุดที่เราจะสัมผัสได้ในการแข่งขันนี้

ชีวิตของ JMG ที่เราได้ฟัง ได้เห็น จากบทสัมภาษณ์สั้นๆ เชื่อมโยงกับเนื้อเพลง “การเปลี่ยนแปลง” ที่เขาได้แต่งเพิ่มจนเสร็จเป็นเพลงร่วมกับรายการ อาจเป็นบทเรียนที่มีค่ากับรุ่นน้องที่เลือกเดินทางเดียวกับเขามาก่อน
การแร็พเป็นหนึ่งในสิ่งที่เขาเลือกแสดงออกเมื่อถึงวันที่ตัดสินใจเปลี่ยนตัวเอง วิชาชีวิตที่ได้รับมาทั้งหมดล้วนออกผลมาเป็นประสบการณ์ ที่ทำให้เขาเลือกจะไปในเส้นทางของแร็พเปอร์ต่อไปร่วมกับการหาเลี้ยงชีพในชีวิตประจำวัน
เราไม่สามารถบอกได้ว่า JMG จะประสบความสำเร็จแค่ไหนในเส้นทางแร็พเปอร์ เพราะนี่เป็นเพียงจุดเริ่มต้นที่มีแสงสปอตไลท์ส่องไปที่เขา หรือแร็พเปอร์อีก 9 คนที่เข้ารอบสุดท้ายไล่ตั้งแต่ XU NIXA, SOSUSSOSAY, PLENGNAT, MASUK D, MadBozo, LOHA, KkonS.Y, Chanon และ ISEAST ต่างมีเรื่องราวชีวิตที่น่าสนใจ และพวกเขาก็พยายามก้าวไปในเส้นทางคล้ายๆ กัน

สิ่งที่การทำโปรเจ็คต์ ‘เรียนนอกห้อง’ Song Competition ได้ให้ไว้กับเราก็คือ ยังมีคนอีกมากมายที่ได้เรียนรู้ชีวิตจากวิชาที่ไม่มีสอนในห้องเรียน บางคนเลือกเส้นทางด้วยตัวเอง บางคนถูกบีบบังคับให้เจอกับเส้นทางที่ตนไม่พร้อม วิชาในโรงเรียนคงไม่เพียงพอที่จะให้การศึกษาติดตัว
เราปิดท้ายโปรเจ็คต์กันด้วยห้องเรียนออนไลน์ ที่เราเชิญ JMG ประวิทย์ พันธ์คำ ในฐานะของแร็พเปอร์ผู้ชนะ, ZOL ชลน ทองมี โปรดิวเซอร์คุมเพลงที่ตีโจทย์กันอย่างเข้มข้น และ AUTTA อัษฏกร เดชมาก ศิลปินผู้เชี่ยวชาญด้านการแต่งคำร้องและทฤษฎีดนตรี มาแลกเปลี่ยนประสบการณ์แก่ผู้สนใจต่อยอดสู่การมีทักษะติดตัว
ปัญหาเรื่องความเสมอภาคทางการศึกษาเป็นเรื่องใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ในสังคมไทย มีคนที่ยังต้องมุ่งเอาตัวรอดมากกว่าไล่ตามความฝัน การกระจายโอกาสทางการศึกษาจึงเป็นเรื่องที่ควรทำในสถานการณ์ตอนนี้ ในยุคที่เราต้องผจญกับโรคระบาด คู่ขนานไปกับความเหลื่อมล้ำ การเรียนรู้ยังคงสำคัญ ไม่ว่าจะก่อตัวจากในห้อง หรือนอกห้องเรียนก็ตาม