วิธีซ่อนเพลงเนื้อหาแรง คำหยาบ ไม่ให้แสดงผลในช่องทางที่เราฟัง

จากกระแสดราม่าเพลงฮิปฮอปที่ฮิตที่สุดในประเทศไทยชั่วโมงนี้ WIP WUP (วิบวับ) ของ Mindset, DABOYWAY, Younggu และ Diamond มียอดวิวในยูทูปถึง 65 ล้านวิว (ณ เวลาที่เขียน) จนกลายเป็นเทรนด์ทวิตเตอร์ที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักเรื่องของเนื้อหาที่ไม่เหมาะสม ทั้งประเด็นเรื่องเพศ คำหยาบ และผู้ฟังกลุ่มที่เป็นเด็ก วันนี้เราจึงขอนำเสนอวิธีซ่อนเพลง และวิดีโอที่มีเนื้อหารุนแรงในแพลตฟอร์มต่าง ๆ ลองมาดูกันว่าทำอย่างไร

เพลง วิบวับ ที่กำลังเป็นกระแสอยู่ในขณะนี้

ทั้งนี้ก็ต้องอธิบายก่อนเลยว่า การระบุว่าเพลงไหนมีเนื้อหารุนแรง หรือมีคำหยาบคายนั้น เป็นการระบุของตัวศิลปินเอง ซึ่งอยู่ในขั้นตอนการส่งเพลงเข้าสู่ระบบจัดจำหน่ายสตรีมมิ่งอยู่แล้ว โดนจะมีการให้เลือกว่าเพลงมีเนื้อหาที่ต้องการคำแนะนำสำหรับเด็กหรือไม่ ส่วนทางฝั่งช่องทางวิดีโออย่าง YouTube ก็จะมีการให้เลือกว่า เนื้อหานี้ทำมาเพื่อเด็กหรือไม่ ก่อนที่จะเผยแพร่วิดีโอสู่สาธารณะ

ถ้าอย่างนั้นเรามาเริ่มต้นที่ YouTube ก่อนเลย เพราะนี่ถือเป็นแพลตฟอร์มยอดนิยมที่สุดในประเทศไทยในการฟังเพลงและดูคอนเทนต์วิดีโอต่าง ๆ

วิธีการเปิดโหมดจำกัดของ YouTube มีขั้นตอนดังนี้

  1. คลิกที่บัญชีผู้ใช้งานของเราที่อยู่ด้านบนขวา แล้วเลือกหัวข้อล่างสุด โหมดที่จำกัด (Restricted Mode)
  2. กดปุ่ม เปิดใช้งานโหมดที่จำกัด (Activate Restricted Mode)

เท่านี้ก็เป็นอันเสร็จสิ้นการช่วยซ่อนเนื้อหา ซึ่ง YouTube เลือกใช้คำว่า “สำหรับผู้ใหญ่” แต่ทั้งนี้ก็มีการเขียนกำกับไว้ว่า “โปรดทราบว่าไม่มีตัวกรองใดที่กรองได้ 100%” นอกจากนั้นเมื่อเราเปิดโหมดนี้แล้ว ยังสามารถล็อคการตั้งค่าโหมดจำกัดไว้ไม่ให้ผู้อื่นมาเปลี่ยนในเบราว์เซอร์นี้อีกด้วย

ผลลัพธ์การเปิดโหมดจำกัดของ YouTube

เราลองค้นหาวิดีโอของ RAP IS NOW ที่จะถูกซ่อนในโหมดจำกัด เช่น คู่แบทเทิลที่ยอดวิวเยอะที่สุดคือ YOUNGOHM vs KENNOI ใน TWIO3 ผลปรากฏว่า ไม่แสดงผลในโหมดจำกัด (แต่ดันมีคู่ M.FORAY vs PEE CLOCK ซึ่งก็มีคำหยาบเพียบขึ้นมาซะงั้น) และเมื่อเราลองไปปิดโหมดจำกัด คลิปคู่ที่เราค้นหาก็กลับมาแสดงผลให้เห็นทันที

เมื่อเปิดโหมดจำกัด คลิปที่ต้องการหาถูกซ่อนไปเนื่องจากเข้าข่ายเนื้อหาผู้ใหญ่
พอกดปิดโหมดจำกัด คลิปที่ค้นหาก็กลับมาแสดงผล

มาต่อกันที่แพลตฟอร์มฟังเพลงอย่าง Apple Music และ iTunes กันบ้าง ซึ่งแพลตฟอร์มนี้มีทั้งการฟังแบบสตรีม และการดาวน์โหลดซื้อเพลงมาฟังแบบออฟไลน์และเป็นเจ้าของไฟล์เพลงด้วย

วิธีการเปิดโหมดจำกัดของ Apple Music & iTunes มีขั้นตอนดังนี้

  1. เปิดแอพ iTunes (ต้องทำในคอมพิวเตอร์เท่านั้น) เลือก Preferences ด้านบนซ้าย
  2. ไปที่โหมด Restrictions (โลโก้เป็นผู้ใหญ่จูงมือเด็ก)
  3. ขั้นตอนนี้เลือกได้หลายอย่าง ว่าเราจะ Disable (ปิดการใช้งาน) หรือ Restrict (จำกัด) ซึ่งถ้าเราอยากซ่อนเพลงที่เนื้อหารุนแรงเฉยๆ ก็กด Restrict
  4. ในโหมด Restrict เลือกติ๊กตรง Music with Explicit Content (เพลงที่มีเนื้อหาแรง)
  5. จากนั้นจะมีหน้าต่างถามอีกครั้ง เราก็กด Restrict Explicit Content เพื่อจำกัดเนื้อหา

ผลลัพธ์การเปิดโหมดจำกัดของ Apple Music & iTunes

หลังจากกดเปิดโหมดจำกัด เราลองเข้า iTunes Store เพื่อจะซื้อเพลง WIP WUP ที่มีการระบุไว้แล้วว่าเป็น Explicit Content (เนื้อหารุนแรง, เนื้อหาตรงไปตรงมา) ปรากฏว่าเมื่อเราเลือกซื้อเพลงนี้ ก็จะมีหน้าต่างขึ้นมาแจ้งว่า เราไม่สามารถซื้อเพลงนี้ได้ เนื่องจากเนื้อหามีความรุนแรง ซึ่งทางแอพก็จะมีการแนะนำให้ไปกดอนุญาตในโหมดจำกัดเสียก่อน

เมื่อกดซื้อเพลงที่เป็น Explicit Content จะมีหน้าต่างแบบนี้ขึ้นมา เพื่อระบุว่าไม่สามารถซื้อได้

และหากย้อนไปกด Disable ในขั้นตอน Restrictions แล้วเลือก iTunes Store ก็จะพบว่า ในแอพ iTunes จะไม่มีโหมดเกี่ยวกับการฟังเพลงผ่านสตรีมมิ่งแสดงอยู่เลย ว่าง่าย ๆ ก็คือไม่ให้ฟังเพลงจากอินเทอร์เน็ตเลยนั่นแหละ ก็นับว่า Apple นั้นมีการตั้งค่าการจำกัดเนื้อหาให้ผู้ใช้งานได้เลือกตามความต้องการตัวเองในหลายบริการ

ถ้ากด Disable ในโหมด Restrictions จะแสดงผลแค่หน้านี้เท่านั้น

ต่อกันที่แพลตฟอร์มมิวสิคสตรีมมิ่งมาแรงอีกหนึ่งเจ้าคือ Spotify ที่ก็ได้รับความนิยมในไทยมากขึ้นในปีที่แล้ว เจ้านี้ก็มีระบบการจำกัดเนื้อหาเช่นกัน

วิธีการเปิดโหมดจำกัดของ Spotify มีขั้นตอนดังนี้

  1. เลือกบัญชีผู้ใช้งาน แล้วเลือก Setting (ตั้งค่า)
  2. ในหน้า Setting ตรงหัวข้อ Explicit Content ให้กดปิดโหมด Allow Playback of explicit-rated content
  3. ปิดแอพ แล้วเปิดใหม่อีกครั้ง
เลือกปิดตรงโหมด Explicit Content
เนื้อหา Explicit Content จะไม่สามารถเล่นได้ทันที

ผลลัพธ์การเปิดโหมดจำกัดของ Spotify

ในแอพนี้จะทำตรงกันข้ามกันแพลตฟอร์มอื่น โดยเราต้องกดปิดการอนุญาตให้เล่นเพลงที่มีเนื้อหารุนแรงแทน ซึ่งหลังจากกดปิดไปแล้ว เพลงทุกเพลงที่มีการระบุว่าเป็น Explicit Content ก็จะไม่สามารถเล่นได้ทันที ถึงยังสามารถค้นหาเจออยู่แต่ก็จะแสดงผลเป็นสีเทา

นอกจากสามช่องทางข้างต้นแล้ว ยังมีช่องทางอื่น ๆ ที่เป็นที่นิยมในการฟังเพลงอย่าง JOOX ก็มีการแสดงผล Explicit Content ไว้เช่นกัน เพียงแต่ยังไม่มีระบบการเปิดโหมดจำกัดเนื้อหา ส่วนแอพวิดีโอยอดฮิตอย่าง Tiktok ที่เป็นการนำช่วงนึงของเพลงเพียง 15 วินาทีนั้น ทางผู้เขียนยังไม่ได้ทดลองใช้งาน จะนำมาเสนออีกครั้งในคราวต่อไป

ซึ่งสำหรับ Explicit Content นั้น ถ้าแปลตรงตัวอาจจะแปลว่า เนื้อหาชัดเจน ตรงไปตรงมา แต่ในทางปฏิบัติแล้ว ก็อาจหมายถึงความสุดโต่งในเนื้อหาที่จะตามมาด้วย คำหยาบ เนื้อหาทางเพศ ยาเสพติด ความรุนแรง ดังนั้นผลลัพธ์ของการฟังเพลงว่าจะได้อะไรนั้น ก็ขึ้นอยู่กับรสนิยมแต่ละคน วิจารณญาณส่วนตัวในการเสพผลงานเพลงแต่ละเพลงอย่างไร มองผลงานเพลงนั้นแบบใด

ผู้เขียนคงมิอาจไปตัดสินอะไรได้ว่าเพลงไหนดีหรือไม่ดี สุดท้ายนี้คงบอกได้แค่ว่า เลือกฟังในสิ่งที่เราชอบ เลือกปิดในสิ่งที่เราไม่ชอบ นั่นคงง่ายที่สุดแล้วสำหรับการฟังเพลงในยุคที่ผู้บริโภคสามารถเลือกได้เองแบบในปัจจุบัน

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

*
*
Website